บทความบริการวิชาการ แม่เหียะ มช. พื้นที่ต้นแบบ BCG เปลี่ยนขยะไร้ค่าให้เป็นทอง

แม่เหียะ มช. พื้นที่ต้นแบบ BCG เปลี่ยนขยะไร้ค่าให้เป็นทอง

        “ขยะ” ในความหมายหรือความรู้สึกของหลายคนอาจคิดถึงสิ่งไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ มีกลิ่นเหม็น และเป็นปฏิกูลที่ใครก็ไม่ต้องการ แต่แท้จริงแล้วสิ่งของนั้น ๆ จะกลายเป็นขยะหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนคนหนึ่งเท่านั้น ดูได้จากคนที่มักเก็บของเก่าไม่ว่าจะเป็นของใช้ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียแล้ว โดยพวกเขาเหล่านั้นมองว่าสิ่งที่เก็บสะสมนี้เป็นของมีค่า แต่ในทางกลับกันหลายคนต่างมองว่าเป็นสิ่งของที่ไม่มีประโยชน์แล้ว หรือเป็นขยะนั่นเอง

        โครงการเชื่อมโยงการผลิตฟาร์มสาธิตสู่การแปรรูป และการพัฒนาตลาดเกษตรสีเขียว ภายใต้โครงการพัฒนาฟาร์มมหาวิทยาลัยเพื่อการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามแนวทาง BCG Economic Model ปีที่ 2 มองพื้นที่ไร่แม่เหียะ เป็นพื้นที่ต้นแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร สังกัดศูนย์วิจัยพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. (ERDI CMU) เปลี่ยนขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ให้สามารถนำมาแปลงสภาพหมุนเวียนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อีกครั้ง เปรียบเสมือน “ทอง” เลยก็ว่าได้

 

พื้นที่ไร่แม่เหียะคือที่ไหน

        “ไร่แม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มช.” เป็นพื้นที่สาธิตในการทำการเกษตรแบบครบวงจรตามแนวทาง BCG ภายใต้โครงการ BCG Economic Model ปีที่ 2 ตั้งแต่การปลูกพืช การขาย การแปรรูป การจัดการขยะ และการหมุนเวียนนำขยะเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ รวมทั้งมีการเปิดพื้นที่เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของหน่วยงานภายรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการทำการเกษตรตามแนวทาง BCG แบบครบวงจรในพื้นที่

        โครงการ BCG Economic Model ปีที่ 2 เป็นการดำเนินงานโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ไร่แม่เหียะ ไม่ว่าจะเป็นคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. (STeP) และศูนย์วิจัยพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. (ERDI CMU) นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรแม่ปิง ที่เป็นเกษตรกรที่มาจำหน่ายพืชผักปลอดสารพิษในตลาดปลอดพิษอาหารปลอดภัยที่อยู่ภายในพื้นที่วิจัยดังกล่าว

        ทุกวันเสาร์ เวลา 6.00 – 12.00 น. ภายในพื้นที่ไร่แม่เหียะจะมีการจัดตลาดปลอดพิษอาหารปลอดภัย โดยวันจัดกิจกรรมจะเกิดขยะจำพวกเศษอาหาร ขยะทั่วไป รวมทั้งขยะรีไซเคิล โดยตลาดที่เป็นพื้นที่ต้นทางของขยะเหล่านั้น จะมีการจัดการแยกขยะตามประเภทก่อนส่งมอบให้กับศูนย์จัดการชีวมวลแบบครบวงจรนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

 

ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจรเปลี่ยนขยะให้เป็นทอง

        “ทอง” ที่กล่าวถึงนี้ไม่ใช่ทองที่ซื้อขายกันทั่วไปตามห้างทองต่าง ๆ แต่เป็นการเปรียบเปรยถึงสิ่งที่มีมูลค่าเปรียบดั่งทองสิ่งของที่มีมูลค่ามากในปัจจุบัน โดยหลายท่านอาจจะคิดไม่ถึงเลยด้วยซ้ำว่าสิ่งที่จะพูดถึงต่อไปนี้มาจากขยะ ของที่หลายคนมองว่าไม่มีไร้ค่า

        ในพื้นที่ไร่แม่เหียะมีถนนต้นแบบจากขยะพลาสติกที่เป็นงานวิจัยของภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ในการใช้ขยะพลาสติก จำพวกพลาสติกชนิดถุงหิ้ว หรือถุงร้อนมาแปรสภาพโดยนำมาผสมยางมะตอย หรือ Asphalt เพื่อนำมาบีบอัดเป็นถนน ส่งผลให้ได้ถนนที่แข็งแรงขึ้นและลดการใช้ยางมะตอย ส่งผลต่อการลดต้นทุนในการทำถนนได้

        ขยะเศษอาหาร หรือขยะเปียก เมื่อศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจรรับมาจากตลาดฯ แล้วจะนำมาเป็นอาหารเลี้ยงตัวอ่อนแมลงทหารเสือ หรือหนอนแมลงวันลายที่หลายท่านรู้จัก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงปศุสัตว์ เนื่องจากหนอนแมลงวันลายมีโปรตีนสูง นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำมันสกัดจากตัวอ่อนแมลงวันทหารเสือในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง กล่าวได้ว่าเป็น “ความลับแห่งความงาม” เลยทีเดียว

        นอกจากนี้ ขยะเศษอาหารและมูลสัตว์ที่ได้จากพื้นที่ไร่แม่เหียะ และเศษอาหารจากโรงอาหารในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการหมักแก๊สชีวภาพแบบหมักแห้ง (Dry Fermentation) ของศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร มช. ได้ผลผลิตเป็น ก๊าซ CBG (Compressed Biomethane Gas) เพื่อให้ในการขับเคลื่อนรถขนส่งมวลชน (ขส.มช.) หรือรสม่วงที่หลาย ๆ คนรู้จักนั่นเอง

        ผลพวงจากการผลิตแก๊สชีวภาพ คือ กากตะกอนชีวภาพ และน้ำแขวนลอย ในเว็บไซต์ของศูนย์วิจัยพัฒนาพลังงานนครพงค์ มช. ให้ข้อมูลไว้ว่า ในกระบวนการหมักแก๊สชีวภาพ จะมีกากตะกอนชีวภาพ 7.55 ลบ.ม./วัน ซึ่งถูกส่งต่อมายังศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิต และฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไร่แม่เหียะต่อไป

 
การใช้ประโยชน์จากน้ำตะกอนแขวนลอยและกากตะกอนชีวภาพ

        “น้ำตะกอนแขวนลอย” หรือ Slurry ที่เกิดจากกระบวนการหมักแก๊สชีวภาพถูกนำมาใช้เป็นวัสดุในการปรับปรุงดินในแปลงปลูกข้าวโพดหวานของศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิต และฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มช. โดยนายทัพไทย หน่อสุวรรณ นักวิทยาศาสตร์เกษตร หัวหน้าโครงการ BCG Economic Model ปีที่ 2 ให้ข้อมูลว่า จากการวิเคราะห์ธาตุอาหารในน้ำตะกอนแขวนลอยพบว่ามีอินทรียวัตถุ (OM) ร้อยละ 5.04 มีค่าไนโตรเจน (N) ร้อยละ 0.51 มีค่าฟอสฟอรัส (P) ร้อยละ 0.58 และมีค่าโพแทสเซียม (K) ร้อยละ 0.17 โดยน้ำหนักของน้ำตะกอนแขวนลอย ซึ่งเป็นตัวช่วยในการเพิ่มธาตุอาหารในดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีทางการเกษตรในการผลิตข้าวโพดหวานได้ และข้าวโพดหวานที่ได้จากแปลงการผลิตจะถูกส่งต่อไปยังอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Step) เพื่อดำเนินการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดนำข้าวโพดไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์ของภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มช. ที่อยู่ในพื้นที่ไร่แม่เหียะอีกด้วย

        “กากตะกอนชีวภาพ” ที่ได้เหลือจากกระบวนการหมักแก๊สชีวภาพนั้น ศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิต และฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มช. นำโดยนายสมศักดิ์ จีรัตน์ นักวิทยาศาสตร์เกษตร ได้ดำกากตะกอนชีวภาพดังกล่าวมาเข้าสู่กระบวนการทำปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุปลูก โดยการนำมาปรับปรุงโดยการเติมจุลินทรีย์ต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็นในการปลูกพืช และนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตผักในพื้นที่ไร่แม่เหียะ

         จะเห็นได้ว่า ในพื้นที่ไร่แม่เหียะเป็นการบริหารทรัพยากรและการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า รวมทั้งเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด นอกจากนี้ทรัพยากรต่าง ๆ ถูกนำกลับมาใช้ในพื้นที่แบบหมุนเวียน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทาง BCG

 




เอกสารประกอบ :

: 523 ครั้ง
วันที่เผยแพร่ : 2024-12-26 11:08:13
เผยแพร่โดย : ปนัดดา ไชยศักดิ์ | หน่วยงาน : ศูนย์บริการวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร